เครื่องปรับอากาศหรือที่เรียกสั้น ๆ ว่าแอร์ นั้น เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีความจำเป็นอย่างมากในวิถีชีวิตประจำวันไปเสียแล้ว ผลพวงจากภาวะเรือนกระจก ทำให้สภาพอากาศร้อนอบอ้าวขึ้นทุกปี สถานที่ทำงาน สถานที่ราชการ ออฟฟิศ หรือแม้แต่บ้านเรือนที่อยู่อาศัย ต่างต้องพึ่งพาอาศัยแอร์คลายร้อนกัน ในการปรนนิบัติบำรุงดูแลรักษานั้นมีความจำเป็นอย่างมาก ซึ่งจะช่วยยืดอายุการใช้งานของแอร์ให้ใช้ได้นานยิ่งขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่าย วันนี้มาดูเคล็ดลับการดูแลรักษาแอร์ว่ามีอะไรบ้าง ยากง่ายเพียงใด มาติดตามดูกัน
รวมวิธีดูแลรักษาแอร์
1. ทำความสะอาดไส้กรอง/แผ่นกรอง
เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดและป้องกันได้ดีที่สุดเช่นกัน วิธีการเพียงแค่หมั่นคอยดูไส้กรองหรือแผ่นกรองฝุ่นว่ามีฝุ่นหรือสิ่งไม่พึงประสงค์มาอุดตันหรือไม่ เพราะถ้าแผ่นนี้เกิดการอุดตันจะทำให้แอร์ไม่มีลมออกมาหรือถ้าออกมาก็แผ่วเบา แอร์ไม่มีความเย็น ส่งผลให้คอมเพรสเซอร์ทำงานหนักจนท้ายที่สุดแอร์ชำรุดเสียหายได้
2. ล้างอัดฉีด (ล้างใหญ่)
ควรมีการล้างแอร์ทั้งคอยล์เย็น คอยล์ร้อน พัดลมเป่าอากาศ อยู่เสมอ ๆ อาจจะเป็นวงรอบ 3 เดือน หรือ 6 เดือน เพื่อให้เครื่องสะอาดไม่มีการอุดตัน จะช่วยให้เครื่องทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่กินไฟ
3. เช็คระดับน้ำยาแอร์
หลังจากที่ล้างแล้ว ควรถือโอกาสเช็คน้ำยาแอร์ด้วย เนื่องจากถ้าน้ำยาไม่อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมแล้วจะทำให้แอร์ไม่เย็น และจะกินไฟมากกว่าปกติ
4. สังเกตเสียงทำงานของแอร์
คอยสังเกตเสียงการทำงานของแอร์ว่าปกติหรือไม่ หากพบผิดปกติควรรีบแก้ไขโดยทันที
5.เลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อนในห้องแอร์
เนื่องจากแอร์เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำหน้าที่ผลิตความเย็น ดังนั้นจึงไม่ควรนำอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ไปตั้งที่ห้องนั้นเพราะจะทำให้แอร์ทำงานหนัก สิ้นเปลืองกระแสไฟฟ้า
6.เช็คหน้าต่าง ประตู ว่าปิดสนิทดีแล้วหรือยัง
ควรจะปิดประตู หน้าต่างให้สนิท ระหว่างที่เปิดแอร์ เพื่อที่จะทำให้ห้องนั้นรักษาความเย็นไว้ได้ดี จะทำให้คอมเพรสเซอร์ ตัด-ต่อการทำงาน ช่วยในเรื่องการประหยัดไฟ
แอร์เป็นน้ำแข็งเกิดจากอะไร
1.แผงคอยล์เย็นตัน
เมื่อแอร์สกปรกมากๆ หรือครีบของคอยล์เย็นล้มมากๆจนลมเย็นไม่สามารถออกได้สะดวก ก็เป็นสาเหตุให้แผงคอยล์เป็นน้ำแข็งได้เหมือนกัน
วิธีการแก้ไข
หมั่นล้างแอร์ทำความสะอาดอยู่เสมอ อย่าให้ฝุ่นเกาะจับจนลมไม่สามารถผ่านได้ โดยวิธีการล้างแอร์นั้นสามารถทำได้ด้วยตนเองโดยการนำแผงคอยล์ และถอดแผ่นกรองอากาศออกมาล้างทำความสะอาด วิธีการล้างง่าย ๆ ด้วยตนเองมีดังนี้
-เตรียมอุปกรณ์สำหรับล้างแอร์ให้ครบ ได้แก่ สายยางหัวฉีด ผ้ายางขนาดยาว ถังน้ำสำหรับรองน้ำ เทปกาวเอาไว้สำหรับติดผ้ายางและตัวแอร์ บันไดหรือเก้าอี้สูงที่สามารถปีนล้างแอร์ได้ น้ำยางล้าง ฟองน้ำ ผ้าขนหนู และไขควง
-เปิดฝาหน้าเพื่อถอดฟิลเตอร์ออก อย่าลืมปิดสวิตซ์ให้เรียบร้อย ทำการไขน็อตบริเวณด้านล่างใกล้บานสวิง และตามจุดต่างๆ แล้วทำการถอดฝาครอบแอร์ออกอย่างระมัดรังวัง
-ถอดบานสวิงออก เริ่มถอดจากตรงกลาง เมื่อถอดเสร็จ หาถุงใหญ่ๆ มาคลุมชุดแผงวงจรไว้ไม่ให้โดนน้ำ
-เตรียมเทปกาว ผ้ายางติดด้านข้างของแอร์ทั้งด้านซ้ายและขวา พยายามทำคล้ายรางน้ำ แล้ววางปลายผ้ายางไว้ที่ถังน้ำ เพื่อให้น้ำที่ล้างไหลลงในถัง
-เริ่มขั้นตอนการล้าง โดยฉีดน้ำตามแนวท่อแอร์ ค่อยๆ ฉีดไล่น้ำ เพื่อไม่ให้น้ำกระเด็นไปโดยตัววงจรแอร์ เมื่อฉีดจนคราบสกปรกต่างๆ หลุดออกมา ก็ใช้น้ำยาล้างจานหรือน้ำยาล้างแอร์ ล้างทำความสะอาดอีกรอบ โดยเช็ดออกด้วยฟองน้ำที่เตรียมไว้
-หลังจากนั้น ทำความสะอาดคอมเพรสเซอร์แอร์ด้านนอก หรือคอยล์ร้อน เริ่มไขน็อตตามจุดต่างๆ ทั้งบนฝาซ้าย-ขวา ยกฝาขึ้น แล้วฉีดน้ำเข้าไปทำความสะอาด ใช้ถุงยางหรือถุงดำมาคลุมตัวระบบเครื่องให้มิดชิด เมื่อฉีดเสร็จจนสะอาด ให้นำถุงดำออก
-เมื่อทำความสะอาดเรียบร้อย ใช้ผ้าแห้งเช็ด หรือใช้ที่เป่าลมเพื่อให้แห้งเร็ว หลังจากนั้นอาจจะทิ้งไว้สักครู่ แล้วประกอบแอร์กลับเข้าไปเหมือนเดิม แล้วรอเปิดแอร์ทิ้งไว้สักพัก และถ้าครีบของคอยแอร์ล้มมาก ๆ ควรให้ช่างดำเนินการซ่อมแซมแก้ไขหรืออาจจะเปลี่ยนใหม่ก็ได้
2. มอเตอร์พัดลมคอยล์เย็นหมุนช้า
เมื่อมอเตอร์คอยล์เย็นเริ่มเสื่อมสภาพ หมุนช้าลงหรือไม่ค่อยหมุน ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำแข็งเกาะที่คอยล์
วิธีแก้ไข
ให้ทำการเช็คขนาดมอเตอร์คอยล์เย็น เพื่อนำอะไหล่มาเปลี่ยน
3. เทอร์โมไม่ตัด
ถ้าเทอร์โมไม่ตัดเมื่อแอร์ทำงานได้อุณหภูมิแล้ว คอมเพรสเซอร์จะทำงานตลอดเวลาทำให้เกิดน้ำแข็งเกาะได้
วิธีแก้ไข
ให้ทำการเปลี่ยนเทอร์โม
4.น้ำยาแอร์รั่ว
ถ้ามีการรั่วไหลของน้ำยาแอร์จนน้ำยาในระบบเหลือน้อย ก็จะเกิดอาการมีน้ำแข็งเกาะ โดยสามารถเช็คจุดรั่วของน้ำยาแอร์ ได้ด้วยตัวเอง ดังนี้
-สังเกตว่ามีคราบน้ำมันหยดหรือไม่ เพราะหากน้ำยาแอร์รั่ว จะเกิดคราบตรงจุดรั่ว เช่น จุดเชื่อมท่อต่อ จุดช่วงท่อต่อเชื่อมกับตัวแอร์ หากพบจุดรั่ว ต้องรีบแก้ไขทันที
-เช็คด้วยฟองสบู่ ใช้แปรงทาสีหรือแปรงฟันจุ่มฟองสบู่หรือน้ำยาล้างจาน ทาลงบนท่อของน้ำยาแอร์ หากแอร์มีจุดรั่วจะมีฟองอากาศเกิดขึ้นมา ซึ่งเป็นสัญญาณว่าแอร์มีจุดรั่ว ต้องรีบแก้ไขทันที
วิธีแก้ไข
ให้ทำการเช็คจุดรั่ว แล้วทำการเชื่อมแก้ไข(ตอนเชื่อมต้องไม่ให้มีน้ำยาค้างอยู่ในระบบ)
ผลเสียของแอร์เป็นน้ำแข็ง
1.ส่งผลให้อุปกรณ์ส่วนควบอื่น ๆ ของแอร์ชำรุดเสียหาย
เนื่องจากแอร์ต้องทำงานหนักขึ้น ไม่มีการตัด-ต่อ หยุดพัก ของอุปกรณ์ที่ควรจะเป็น ซึ่งจะทำให้อุปกรณ์พังเสียหายได้ง่าย
2.ทำให้แอร์ไม่เย็น
หากลมออกมาเบาหรือแทบไม่มีเลย ซึ่งเกิดการอุดตันอยู่ภายใน จึงทำให้ไม่มีการระบายอากาศ หรือความเย็นออกมา ทำให้เกิดปัญหาแอร์เย็นช้ากว่าปกติ หรือไม่เย็นเลย
3.สิ้นเปลืองกระแสไฟฟ้า
หากแอร์มีการอุดตันจากคราบสกปรก จนทำให้แอร์เกิดน้ำแข็งเพราะไม่สามารถระบายอากาศออกมาได้ แต่ยังมีการทำงานของระบบ และหากไม่ได้มีการแก้ไขจะยิ่งทำให้ใช้ไฟมากขึ้นกว่าเดิม เกิดปัญหาค่าไฟที่เพิ่มขึ้นตามมา
4.เกิดไฟฟ้าลัดวงจร
น้ำแข็งที่เกาะหากหยดลงบนแผงอิเล็กทรอนิกส์ หรือจุดที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่าน อาจทำให้เกิดการลัดวงจรของกระแสไฟฟ้าและเป็นอันตรายถึงชีวิตกับผู้ใช้งานได้
การดูแลรักษาแอร์มีความจำเป็นอย่างมาก ซึ่งเราสามารถเรียนรู้ และทำได้เองในบางเรื่องโดยไม่ต้องไปเรียกใช้บริการช่าง ซึ่งจะช่วยให้เรามีแอร์ใช้ไปนาน ๆ สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง ประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ชำรุดเสียหายจุกจิกกวนใจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเรื่องบางเรื่องถ้าเกินขีดความสามารถ ก็ควรจะต้องเรียกช่างจะเป็นการดีกว่า เพราะความปลอดภัยสำคัญที่สุด หากไม่มีความชำนาญอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้