เครื่องปรับอากาศหรือที่เรียกสั้น ๆ ว่าแอร์ นั้น เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีความจำเป็นอย่างมากในวิถีชีวิตประจำวัน อาจจะด้วยเพราะสภาพอากาศของบ้านเราที่เป็นเมืองร้อน เราจึงได้พบเห็นว่า แอร์นั้นได้ติดตั้งอย่างมากมายตาม สำนักงาน ออฟฟิศ สถานที่ทำงาน สถานที่ราชการต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งบ้านพักที่อยู่อาศัย ซึ่งปัจจุบันราคาแอร์ก็ถูกลงมาก ไม่ค่อยแพง เหมือนเช่นอดีต จึงเป็นที่นิยมนำมาติดตั้งใช้งานคลายร้อนกัน แอร์นั้นเมื่อใช้งานไปซักระยะหนึ่ง ก็อาจจะชำรุด เจอปัญหามีเรื่องขบคิดให้ปวดหัวหงุดหงิดกัน แตกต่างกันไป วันนี้จะขอกล่าวถึงปัญหาเรื่องแอร์ไม่เย็นนั้นเกิดจากสาเหตุมาจากอะไรบ้างเพื่อให้ท่านผู้อ่านจะได้ป้องกันและแก้ปัญหาได้ตรงจุด และวิธีการดูแลรักษาแอร์มาฝากกัน
แอร์ไม่เย็น เกิดจากอะไร
1.เกิดจากแผ่นกรองอากาศหรือไส้กรองของแอร์สกปรก และมีฝุ่นสะสมจนหนา โดยทำให้ทางลมแอร์นั้นถูกบัง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาแอร์ดูดอากาศเข้าไปได้ไม่มากเท่าที่ควรและส่งผลให้แอร์ไม่เย็นได้
2.เกิดจากแผงวงจรคอนโทรลชำรุด ไม่สั่งจ่ายไฟเลี้ยงให้กับคอมเพรสเซอร์เป็นเหตุให้คอมเพรสเซอร์ไม่สามารถทำงานได้ จึงทำให้แอร์มีแต่ลมแต่ไม่มีความเย็นเลย
3. เกิดจากคอมเพรสเซอร์ชำรุดเสียหาย ไม่สามารถทำหน้าที่อัดสารทำความเย็นหรือที่เราเรียกว่าน้ำยาแอร์ส่งไปตามท่อน้ำยาแอร์ที่เป็นท่อทองแดง ไปยังเครื่องควบแน่นหรือคอนเด็นซิ่งยูนิต (Condensing Unit) ที่ทำหน้าที่ควบแน่นสารทำความเย็นที่มีแรงดันสูง และอยู่ในสถานะที่เป็นไอ หรือเป็นก๊าซโดยการระบายความร้อนออกจากน้ำยาแอร์ด้วยพัดลมระบายอากาศ
4. แอร์บางรุ่นจะมีชุดแมกเนติคสำหรับตัดต่อไฟให้กับชุดคอยล์ร้อน ถ้าแมคเนติคเสียหายจะไม่มีไฟไปเลี้ยง ทำให้ชุดคอยล์ร้อนรวมทั้งคอมเพรสเซอร์ไม่ทำงานและทำให้แอร์ไม่เย็นในที่สุด
5.ท่อน้ำยาแอร์รั่ว ทำให้น้ำยาในระบบไม่มีหรือมีไม่เพียงพอ ก็เป็นสาเหตุทำให้แอร์ไม่เย็นได้เช่นกัน
6.พัดลมที่ชุดคอยล์ร้อนไม่หมุน ทำให้ไม่มีตัวระบายความร้อนให้กับสารทำความเย็นโดยคอยล์ร้อนจะทำงานร่วมกับ Compressor และจะติดตั้งอยู่ภายนอกอาคาร
7. การตั้งค่ารีโมทแอร์ผิด การตั้งค่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำงานของเครื่องปรับอากาศ เนื่องจากรีโมทจะเป็นตัวควบคุมการทำงาน และทำให้เครื่องปรับอากาศสามารถทำความเย็นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หากเราตั้งค่าเครื่องปรับอากาศไม่ถูกต้อง หรือไม่เหมาะสมกับห้อง และสภาพอากาศภายใน ก็จะส่งผลถึงความเย็นในห้อง และประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องปรับอากาศ
วิธีการแก้ไข
1. หมั่นล้างแอร์ ทำความสะอาด และตรวจสอบอยู่เสมอ อาจจะเป็นวงรอบ ทุก ๆ 3 เดือน หรือทุก ๆ 6 เดือน แล้วแต่กรณี ซึ่งอาจจะล้างเองก็ได้หากผู้ใช้งานสามารถทำได้ แต่ถ้าไม่สามารถทำได้เองก็อาจจะต้องเรียกช่างใกล้บ้านมาดำเนินการให้
2. ตรวจเช็คแผงวงจรคอนโทรลว่าจ่ายไฟให้กับแผงชุดคอยล์ร้อนที่ติดตั้งอยู่ภายนอกอาคารหรือไม่ โดยใช้มัลติมิเตอร์วัดไฟ ซึ่งวิธีการนี้ผู้ใช้จะต้องมีพื้นฐานด้านช่างอยู่พอสมควร แต่ถ้าไม่มีความชำนาญก็ อาจจะต้องเรียกช่างมาดำเนินการแก้ไขให้
3. สังเกตเสียงการทำงานของแอร์ รวมทั้งไฟแสดงสถานะคอมเพรสเซอร์ว่าปกติหรือไม่ ถ้าคอมเพรสเซอร์ชำรุด จะแก้ไขโดยให้ช่างเปลี่ยนใหม่
4. หากแมกเนติคส์ชำรุดไม่มีการตัดต่อไฟหรือต่อไม่สนิท ให้ทำการเปลี่ยนใหม่
5. ตรวจเช็คน้ำยาแอร์ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่ โดยใช้เกจวัดน้ำยา ถ้าน้ำยาขาดนิดหน่อยก็สามารถเติมเพิ่มเข้าไปได้เลย แต่ถ้าหากน้ำยาไม่มีเลยให้ทำการหาจุดรั่วและทำการซ่อมเชื่อมอุดรอยรั่วให้เรียบร้อยก่อนที่จะเติมน้ำยาเข้าไป
6. หากพัดลมที่คอยล์ไม่หมุนให้เช็คดูว่ามีไฟไปเลี้ยงหรือไม่ ถ้ามีให้เช็คคาปาซิสเตอร์ที่ต่อกับพัดลมว่าอยู่ในสภาพดีหรือไม่ ถ้าอยู่ในสภาพดี ให้เปลี่ยนมอเตอร์พัดลมใหม่
วิธีการดูแลรักษาแอร์
1.หมั่นทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศ(ฟิลเตอร์) ทุกอาทิตย์ โดยการเปิดหน้ากากแอร์ขึ้นมา แล้วดึงแผ่นกรองอากาศออกมาล้างทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่า
2. หมั่นล้างทำความสะอาดโดยการฉีดน้ำล้างที่คอยล์ร้อนทั้งคอยล์เย็น (ล้างใหญ่) แล้วแต่สภาพแวดล้อมและลักษณะการใช้งาน
3. หลังจากการล้างแอร์ ควรทำการเช็คระดับแรงดันน้ำยาว่าปกติดีหรือไม่
4. หมั่นคอยสังเกตเสียงการทำงานของแอร์ ถ้ามีเสียงดังผิดปกติ หรือแอร์ไม่ค่อยเย็นควรรีบทำการตรวจเช็ค เพราะอาจจะทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงขึ้น
5. ไม่ควรนำเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ค่าความร้อนสูง เช่น เตารีด หม้อหุงข้าว เครื่องทำน้ำร้อน เป็นต้น มาใช้ในห้องแอร์เพราะจะทำให้แอร์ทำงานหนักโดยใช่เหตุอีกทั้งยังทำให้เปลืองค่าไฟฟ้าอีกด้วย
จะเห็นได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นถ้าเรารู้จักป้องกัน บำรุงรักษาดูแลอย่างสม่ำเสมอแล้วก็จะทำให้แอร์ของเราใช้งานได้ดี มีอายุการใช้งานที่ยาวนานไม่เกิดปัญหา หรือถ้าหากหลงลืมขาดการดูแล เราเองก็สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหานั้นได้เองโดยไม่ยุ่งยาก หากเกินขีดความสามารถก็อาจจะต้องเรียกใช้บริการช่างแอร์ใกล้บ้าน แต่ถึงอย่างไรก็ตามเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดนั้นมีอันตราย ในการดำเนินการพึงนึกถึงความปลอดภัยเป็นหลัก อย่าประมาท ถ้าไม่มีความชำนาญหรือไม่มีความรู้ควรจะเรียกช่างใกล้บ้านจะเป็นการดีที่สุด