อย่างที่รู้กันดีว่าเครื่องปรับอากาศหรือแอร์นั้น ปัจจุบันมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะราคาไม่แพงเหมือนแต่ก่อน สามารถหาซื้อมาติดตั้งใช้งานได้โดยไม่ลำบากเงินในกระเป๋าซักเท่าใดนัก แอร์เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความเย็น วันนี้จะพาท่านผู้อ่านทั้งหลายมารู้จักแอร์ให้มากยิ่งขึ้น ว่าทำงานอย่างไร ขนาดของเครื่องปรับอากาศ( BTU ) คืออะไร มีอุปกรณ์อะไรบ้าง และการดูแลรักษาควรทำอย่างไร
แอร์คืออะไรมีหลักการทำงานอย่างไร
แอร์ คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ปรับอุณหภูมิของอากาศในเคหสถาน เพื่อให้มนุษย์ได้อาศัยอยู่ในที่ที่ไม่ร้อนหรือไม่เย็นจนเกินไป หรือใช้รักษาภาวะอากาศให้คงที่เพื่อจุดประสงค์อื่น เคหสถานในเขตศูนย์สูตรหรือเขตร้อนชื้นมักมีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศเพื่อลดอุณหภูมิให้เย็นลง ตรงข้ามกับในเขตอบอุ่นหรือเขตขั้วโลกใช้เพื่อเพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้น (อาจเรียกว่า เครื่องทำความร้อน) เครื่องปรับอากาศมีทั้งแบบตั้งพื้น ติดผนัง และแขวนเพดาน มีหลักการทำงาน โดยใช้สารทำความเย็นหรือน้ำยาแอร์เป็นตัวกลางในการดูดซับความร้อนภายในห้อง แล้วส่งความร้อนออกไปภายนอกห้อง โดยอาศัยกระบวนการเปลี่ยนสถานะสารทำความเย็น(น้ำยา) ให้เป็นไอ(ก๊าซ) เพื่อการดูดซับความร้อนภายในบ้านของคุณ และเปลี่ยนสถานะกลับเข้าสู่ของเหลวเพื่อคายความร้อนออกไปยังภายนอกบ้าน หลักการนี้จึงทำให้บ้านหรือห้องที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศเย็นสบายในสภาพอากาศที่ร้อน
ขนาดของเครื่องปรับอากาศ( BTU )คืออะไร
ขนาดของเครื่องปรับอากาศ มีหน่วยเป็น บีทียู ต่อ ชั่วโมง (BTU/hr) (บีทียู เป็นหน่วยของความร้อน) เป็นค่าความสามารถในการลดพลังงานความร้อนของเครื่องปรับอากาศ โดยการลดพลังงานความร้อน 1 บีทียู จะทำให้น้ำบริสุทธิ์ที่หนัก 1 ปอนด์ (ประมาณ 453.6 มิลลิลิตร) เย็นลง 1 องศาฟาเรนไฮต์
การเลือกขนาดของเครื่องปรับอากาศนั้น ต้องคำนึงถึงขนาดของเครื่องปรับอากาศ และขนาดของ BTU ของเครื่องปรับอากาศควบคู่กันไปด้วย คำว่า BTU ย่อมาจาก British Thermal Unit ซึ่งหากเลือกขนาดของเครื่องปรับอากาศไม่พอดีจะส่งผลดังนี้
-BTU ต่ำไป ส่งผลให้คอมเพรสเซอร์จะทำงานตลอดเวลา สิ้นเปลื้องพลังงานและอาจจะทำให้เครื่องปรับอากาศเสียเร็ว
-BTU สูงไป ส่งผลทำให้คอมเพรสเซอร์จะทำงานตัดบ่อยไป ทำให้ประสิทธิ์ภาพในการทำงานลดน้อยลง ทำให้ความชื้นในห้องสูง เมื่ออยู่ในห้องนั้นจะรู้สึกไม่สบายตัว
อุปกรณ์แอร์มีอะไรบ้าง
ส่วนประกอบที่สำคัญของระบบการทำการความเย็น มีองค์ประกอบหลักๆอยู่ 4 ส่วนได้แก่
1.คอมเพรสเซอร์ (Compressor)
ทำหน้าที่ขับเคลื่อนสารทำความเย็น หรือน้ำยา (Refrigerant) ในระบบ โดยทำให้สารทำความเย็นมีอุณหภูมิ และความดันสูงขึ้น
2.คอยล์ร้อน (Condenser)
ทำหน้าที่ระบายความร้อนของสารทำความเย็น
3.คอยล์เย็น (Evaporator)
ทำหน้าที่ดูดซับความร้อนภายในห้องมาสู่สารทำความเย็น
4.อุปกรณ์ลดความดัน (Throttling Device)
ทำหน้าที่ลดความดันและอุณหภูมิของสารทำความเย็น โดยทั่วไปจะใช้เป็น แค็ปพิลลารี่ทิ้วบ์ (Capillary tube) หรือ เอ็กสแปนชั่นวาล์ว (Expansion Valve)
ขั้นตอนการทำงานของเครื่องปรับอากาศ
– คอมเพรสเซอร์ จะดูดและอัดความดันเข้าสู่สารทำความเย็นและส่งต่อไปยังคอยล์ร้อน
– น้ำยาจะไหลผ่านแผงคอยล์ร้อน และใช้พัดลมเป่าเพื่อระบายความร้อนออกจากสารทำความเย็น ทำให้อุณหภูมิลดลง และส่งต่อไปยังอุปกรณ์ลดความดัน
– น้ำยาจะไหลผ่านจากอุปกรณ์ลดความดันไปยังคอยล์เย็น โดยผ่านท่อ ซึ่งน้ำยาที่ไหลในส่วนนี้จะมีความดันต่ำและอุณหภูมิต่ำ
– น้ำยาจะไหลผ่านแผงคอยล์เย็น โดยมีพัดลมเป่า ทำให้สารทำความเย็นดูดซับความร้อนออกจากภายในห้อง ทำให้น้ำยามีความร้อนสูงขึ้น และจะถูกส่งกลับไปยังคอมเพรสเซอร์
การดูแลรักษาควรทำอย่างไร
1. ทำความสะอาดไส้กรอง/แผ่นกรอง
เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดและป้องกันได้ดีที่สุดเช่นกัน วิธีการเพียงแค่หมั่นคอยดูไส้กรองหรือแผ่นกรองฝุ่นว่ามีฝุ่นหรือสิ่งไม่พึงประสงค์มาอุดตันหรือไม่ เพราะถ้าแผ่นนี้เกิดการอุดตันจะทำให้แอร์ไม่มีลมออกมาหรือถ้าออกมาก็แผ่วเบา แอร์ไม่มีความเย็น ส่งผลให้คอมเพรสเซอร์ทำงานหนักจนท้ายที่สุดแอร์ชำรุดเสียหายได้
2. ล้างอัดฉีด (ล้างใหญ่)
ควรมีการล้างแอร์ทั้งคอยล์เย็น คอยล์ร้อน พัดลมเป่าอากาศ อยู่เสมอ ๆ อาจจะเป็นวงรอบ 3 เดือน หรือ 6 เดือน เพื่อให้เครื่องสะอาดไม่มีการอุดตัน จะช่วยให้เครื่องทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่กินไฟ
3. เช็คระดับน้ำยาแอร์
หลังจากที่ล้างแล้ว ควรถือโอกาสเช็คน้ำยาแอร์ด้วย เนื่องจากถ้าน้ำยาไม่อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมแล้วจะทำให้แอร์ไม่เย็น และจะกินไฟมากกว่าปกติ
4. สังเกตเสียงทำงานของแอร์
คอยสังเกตเสียงการทำงานของแอร์ว่าปกติหรือไม่ หากพบผิดปกติควรรีบแก้ไขโดยทันที
5.เลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อนในห้องแอร์
เนื่องจากแอร์เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำหน้าที่ผลิตความเย็น ดังนั้นจึงไม่ควรนำอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ไปตั้งที่ห้องนั้นเพราะจะทำให้แอร์ทำงานหนัก สิ้นเปลืองกระแสไฟฟ้า
6.เช็คหน้าต่าง ประตู ว่าปิดสนิทดีแล้วหรือยัง
ควรจะปิดประตู หน้าต่างให้สนิท ระหว่างที่เปิดแอร์ เพื่อที่จะทำให้ห้องนั้นรักษาความเย็นไว้ได้ดี จะทำให้คอมเพรสเซอร์ ตัด-ต่อการทำงาน ช่วยในเรื่องการประหยัดไฟ
คงจะรู้และเริ่มจะหายสงสัยกันแล้วใช่ไหมละว่า แอร์ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้มีหลักการทำงานอย่างไร มีส่วนประกอบที่สำคัญอย่างไร การดูแลรักษาควรทำอย่างไรบ้าง ซึ่งถ้าเรารู้และเข้าใจเกี่ยวกับแอร์เป็นอย่างดีจะทำให้ยืดอายุการใช้งานของแอร์ สามารถใช้ได้นาน ๆ ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง อีกทั้งช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้เป็นอย่างดีอีกด้วย